สังคมโลก : ความเสี่ยงร่วมกัน แผนปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารพิษ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
เมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบ การเตรียมระบายน้ำเสีย “ปนเปื้อนกัมมันตรังสีในระดับต่ำมาก” ปริมาณมากกว่า 1 ล้านตัน จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ประมาณช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2566 โดยจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และจะมีการจ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสม ให้แก่ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีการประเมินแล้วว่า จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการครั้งนี้
Nippon TV News 24 Japan
ขณะที่ก่อนถึงกำหนดการ รัฐบาลญี่ปุ่นจะเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการเตรียมการ ประเมินสถานการณ์ และให้คำแนะนำแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ให้เตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ “น้อยที่สุด” ก่อนปล่อยน้ำลงสู่ทะเลอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ กล่าวระหว่างลงพื้นที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าแผนการระบายน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น ตามแนวทางของรัฐบาลชุดก่อนหน้า ในสมัยนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ ซึ่งประกาศเมื่อต้นปี 2564 ต้องการระบายน้ำเสียทั้งหมด จากอ่างเก็บ 1,020 แห่ง ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยกระบวนการดังกล่าว “เป็นหนทางหลีกเลี่ยงไม่ได้” ในการจัดการกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2554
เนื่องจากอ่างเก็บน้ำเสียภายในโรงไฟฟ้าที่รองรับปริมาณน้ำได้สูงสุด 1.37 ล้านตัน จะเต็มความจุภายในปี 2565 โดยน้ำเสียทั้งหมดจะผ่านกระบวนการกรองเพื่อลดสารอันตรายลงไม่น้อยกว่า 40% ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล คงเหลือเพียงทริเทียม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าต้องเป็นการบริโภค “ปริมาณมหาศาล” จึงจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
สำหรับการระบายน้ำเสียทั้งหมดนี้ ต้องใช้เวลา “นานหลายสิบปี” ในระหว่างนี้ เทปโกจะสร้างสถานที่เก็บแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนที่หลอมละลายจนใช้การไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม จีนและเกาหลีใต้ยังคงประท้วงอย่างหนักว่า “ไร้ความรับผิดชอบ” เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบนิเวศ และขอให้ประชุมร่วมกันก่อน
ในอีกด้านหนึ่ง ผลการศึกษาที่เผยแพร่ทางออนไลน์ในวารสารเนเชอรัล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) ซึ่งมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบ ระบุว่า ภายในระยะเวลา 3,600 วัน หลังการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่ทะเล สารพิษจะกระจายครอบคลุมพื้นที่แทบทั้งหมดของมหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากนั้น ผลการศึกษายังพบว่า สารกัมมันตรังสีจะก่อให้เกิดความกังวลใกล้กับชายฝั่งอเมริกาเหนือในท้ายที่สุด โดยการปนเปื้อนจะมีความเด่นชัดมากขึ้น ภายใน 2,400 วัน
การอ่านที่เกี่ยวข้อง
- เลขาธิการอาเซียน ชื่นชมอาคารแสดงประเทศไทย ดีอีเอส จัดงานยิ่งใหญ่สมเกียรติ
- ผลงานยังไม่เข้าตา หนึ่งปีผ่านมา ‘รองกมลา แฮร์ริส’
- ปากีสถานเตรียมตัวสําหรับการเลือกตั้งสําคัญขณะที่ผู้นําพรรคหนึ่งถูกคุมขัง
- การเปิดเผยข้อมูลพิเศษ : สหรัฐฯ ยืมน้ำโขงจัดการจีน
- สังคมโลก : เกื้อหนุนกัน
- UNISOC: MWC2022 ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อโลกปัจจุบันไปสู่ยังอนาคต
- ปิดฉากงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ ๒๕๖๔ วธ.มอบ 3 รางวัลประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียน และรางวัลปร
- ข่าวคนไทยในออสเตรเลีย วันที่
- สังคมโลก : ห่วงโซ่พหุภาคี
- วธ.มอบของขวัญปีใหม่ส่งความสุขแก่คนไทยผ่านกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี กราบสักการะพระพุทธรูปสำคัญ ชมการแสดงศิ