วธ.ผลักดันกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ค
วธ.ผลักดันกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7 คัดสุดยอดภาพยนตร์อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย 36 เรื่อง จัดฉายให้ชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 8-13 ธ.ค.นี้
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๙.๐๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๗ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ น.ส.วรรณสิริ โมรากุล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นายธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ นายธนัญชนก สุบรรณ ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย ดารานักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เข้าร่วม ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ชั้น ๘ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายอิทธิพล กล่าวว่า ช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทุกธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก จนเกิดเป็นการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การเปิดประเทศของไทย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งภายใต้แนวคิดใหม่คนไทยสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างเท่าทัน เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว และธุรกิจด้านสารัตถะ (Content) อันเอื้อประโยชน์ไปยังทุกภาคส่วนให้ดำเนินธุรกิจของประเทศได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2564 (Bangkok ASEAN Film festival 2021) ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 8 -13 ธันวาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า และโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งนับเป็นอีกโอกาสที่สำคัญสำหรับบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศพันธมิตรในเอเชีย จะได้ร่วมมือกันฟื้นฟูและร่วมกันเริ่มต้นใหม่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ยั่งยืนต่อไป และเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 - 2564) ที่มุ่งใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย และผลักดันให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า งานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนฯครั้งนี้มีการฉายภาพยนตร์เปิดเทศกาล คือ One Second ผลงานกำกับของจางอี้โหมว ผู้กำกับชั้นครูจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งตลอดงานเทศกาลฯมีการจัดฉายภาพยนตร์คุณภาพ 36 เรื่อง จากประเทศสมาชิกอาเซียน และภาพยนตร์จากกลุ่มเอเชียได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งทุกเรื่องจะมีบทบรรยายภาษาไทย-อังกฤษ เข้าชมฟรีทุกเรื่องทุกรอบ โดยแบ่งเป็นภาพยนตร์จัดฉาย ดังนี้ 1.ภาพยนตร์อาเซียนฉายโชว์ (SHOWCASE : ASEAN PLUS) ภาพยนตร์จากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนและจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและอินเดีย รวม 12 เรื่อง จัดฉายเรื่องละ 2 รอบ อาทิ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Belle ผลงานของมาโมรุ โฮโซดะจากประเทศญี่ปุ่น, Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash ผลงานของเอ็ดวิน และ Yuni ผลงานของผู้กำกับหญิง คามิลา อันดินี สองภาพยนตร์จากสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่คว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลสำคัญๆ ในปีนี้, The Edge of Daybreak (พญาโศกพิโยคค่ำ) ผลงานภาพยนตร์ของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ จากประเทศไทย, White Building ผลงานภาพยนตร์ของ Kavich Neang ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่จากประเทศกัมพูชา, In Front of Your Face ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Hong Sangsoo ผู้กำกับเกาหลีใต้ระดับแนวหน้า, A Night of Knowing Nothing ภาพยนตร์จากผู้กำกับหญิงหน้าใหม่ Payal Kapadia จากประเทศอินเดีย เป็นต้น
2.การฉายภาพยนตร์ของสายการประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียน (ASEAN SHORT FILM COMPETITION) 14 เรื่อง พิจารณาตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและต่างประเทศ 3 ท่าน โดยมอบรางวัล ดังนี้ (1) รางวัล BEST ASEAN SHORT FILM ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด 2,000 USD (2) รางวัล JURY PRIZE ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด 1,000 USD (3) รางวัล SPECIAL MENTION ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด 500 USD และเพื่อให้เกิดความหลากหลายและขยายขอบเขต การสนับสนุนภาพยนตร์สั้นในภูมิภาคและพันธมิตรในเอเชีย โดยงานเทศกาลฯได้จัดฉายสายโชว์ของภาพยนตร์สั้น (BAFF SHORT FILM SHOWCASE) เป็นการรวบรวมผลงานภาพยนตร์สั้นที่โดดเด่นในรอบปีจากเทศกาลเมืองคานส์ 3 เรื่อง พร้อมฉายร่วมกับภาพยนตร์สั้นจากผู้ชนะ 3 รางวัลจาก SHORT FILM PROJECT (PROJECT 19) 3.การจัดฉายภาพยนตร์อาเซียนทรงคุณค่า (ASEAN Classic) 3 เรื่อง ได้แก่ ช่างมัน ฉันไม่แคร์ นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช, ลิขิต เอกมงคล ผลงานกำกับของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล, Aimless Bullet หนึ่งในภาพยนตร์เกาหลีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และ The Daughter of Japan ผลงานที่หาดูยากจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การประกวดโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ขนาดยาวอาเซียน (SEA PITCH) : SOUTHEAST ASIAN PROJECT PITCH) คัดเลือกโครงการสร้างภาพยนตร์ขนาดยาว 8 โครงการ โดยคนทำหนังจากภูมิภาคอาเซียนที่มีไอเดียในการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือกผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะเข้าร่วมอบรมพิเศษออนไลน์ด้านการนำเสนอโปรเจกต์ (Pitching) กับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ 2 ครั้ง เพื่อเตรียมตัวนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ และมอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวด จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัล SEAPITCH Award ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด 5,000 USD 2.รางวัล Runner-Up Prize ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด 3,000 USD และ3.รางวัล SPECIAL MENTION ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด 2,000 USD โดยจะมีพิธีประกาศรางวัลและปิดเทศกาลในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ พารากอน ซินีเพล็กซ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 มีการสัมมนาหัวข้อ ”IS ASEAN CONTENT READY TO TAKE ON THE WORLD?” ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทางภาพยนตร์ในระดับนานาชาติ มาร่วมกันวิเคราะห์ให้เห็นถึงสถานการณ์การผลิตคอนเทนต์ของภูมิภาคว่าอนาคตของคอนเทนต์เหล่านี้จะอยู่จุดไหนในวงการภาพยนตร์ระดับโลกและในวันที่ 11 ธันวาคม 2564 จะมีการสัมมนาหัวข้อ “Going Virtual” ร่วมกับ ACBS (Asia Content Business Summit) ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีการนำเสนอข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฯจากประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ รวมทั้งการประกาศโครงการของ ACBS กับการรายงานสถานการณ์ของประเทศสมาชิกแนวโน้มของอุตสาหกรรมสารัตถะภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) และการเสนอโครงการความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างประเทศจากทวีปเอเชีย
ถัดไป: เลขาธิการอาเซียน ชื่นชมอาคารแสดงประเทศไทย ดีอีเอส จัดงานยิ่งใหญ่สมเกียรติ
การอ่านที่เกี่ยวข้อง
- สังคมโลก : โอกาสของราชาผลไม้
- UNISOC: MWC2022 ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อโลกปัจจุบันไปสู่ยังอนาคต
- ขับเคลื่อนความอัจฉริยะของอุตสาหกรรมมาตรวัดไฟฟ้าในอินเดีย
- การเปิดเผยข้อมูลพิเศษ : สหรัฐฯ ยืมน้ำโขงจัดการจีน
- สังคมโลก : ห่วงโซ่พหุภาคี
- ข่าวคนไทยในออสเตรเลีย วันที่
- วธ.ผลักดันกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ค
- เลขาธิการอาเซียน ชื่นชมอาคารแสดงประเทศไทย ดีอีเอส จัดงานยิ่งใหญ่สมเกียรติ
- ยังอยู่ในใจเสมอ “ต่าย สายธาร” ทำบุญครบรอบการจากไป 16 ปี “อ๊อฟ อภิชาติ”
- สังคมโลก : ความเสี่ยงร่วมกัน แผนปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารพิษ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ